พลับพลึงธาร ราชินีแห่งสายน้ำ
2832
5 มีนาคม 2563
ดอกพลับพลึงธาร ราชินีแห่งสายน้ำ ชูช่อบานสะพรั่งต้อนรับหน้าหนาวของทุกปี
พลับพลึงธาร หรือ ช้องนางคลี่ หรือหอมน้ำ เป็นพันธุ์ไม้ที่ใกล้สูญพันธุ์ และแปลกตรงที่ไม่เคยพบเห็นจากที่ใดในโลก เป็นพืชน้ำเฉพาะถิ่นของประเทศไทย พบได้ในแถบจังหวัดพังงา และระนอง โดยที่พังงานั้นพบได้ที่บริเวณแม่น้ำ ลำคลอง ใน อ.คุระบุรี พังงา อ.ตะกั่วป่า และอ.กะปงและจังหวัดระนอง พบที่ อ.สุขสำราญ อ.กะเปอร์ พลับพลึงธารเป็นพืชอวบน้ำในช่วงฤดูฝนที่น้ำหลากจะมีการผสมเกสร โดยในแต่ละผลจะมีเมล็ดข้างใน 3-4 เมล็ด และจะออกดอกบานสะพรั่งในช่วงปลายฤดูฝน หรือต้นฤดูหนาว ประมาณเดือนตุลาคม-ธันวาคมของทุกปีดอกพลับพลึงธาร เป็นดอกไม้ประจำท้องถิ่น จึงเห็นความสำคัญในการพัฒนา และอนุรักษ์ให้ดอกพลับพลึงธารเป็นดอกไม้คู่บ้านคู่เมือง และเป็นดอกไม้อีกหนึ่งชนิดสำคัญของโลก ลักษณะของดอกพลับพลึงธาร จะเป็นดอกตูมสีขาว ชูช่อขึ้นเหนือน้ำ หากบานแล้วจะส่งกลิ่นหอมอบอวล แต่กลับพบว่า มีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุจากการขุดลอกคลอง และจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น ซึ่งได้ถูกขึ้นบัญชีให้เป็นพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก (IUCN Redlist)เมื่อปี2554
นายเลื่อน มีแสง หรือ ตาเลื่อน เจ้าของฉายา ผู้เฒ่าเฝ้าพลับพลึงธาร เจ้าของสวนเกษตรคลองตาเลื่อน หมู่ที่ 1 บ้านบางซอย ต.คุระ อ.คุระบุรี จ.พังงา พาเดินชมดอกพลับพลึงธาร ที่กำลังบานสะพรั่งในช่วงปลายฝนต้นหนาว รอรับหน้าหนาวที่มาเยือนอยู่ในลำคลองสายเล็กๆ ซึ่งแต่ละต้นต่างแย่งกันชูช่อดอกและส่งกลิ่นหอมเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมในระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคมของทุกปี และสัมผัสอย่างใกล้ชิดจนปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของ อ.คุระบุรี จ.พังงา
ตาเลื่อน เล่าว่าเป็นเจ้าของสวนเกษตรพื้นที่ 20 ไร่ที่มีลำคลองเล็กๆไหลผ่าน ได้ทำสวนยางพาราและเกษตรผสมผสาน ที่ผ่านมาได้สังเกตว่าพลับพลึงธารเป็นพืชริมน้ำที่มีประโยชน์ เพราะช่วยยึดดินริมตลิ่ง ป้องกันกระแสน้ำชะล้างพังทลาย ทั้งยังทำให้น้ำใสและเพิ่มความสวยงามให้ลำคลอง จึงไม่คิดขุดไปขาย แม้ปี 2545 หน่วยงานท้องถิ่นมีแผนขุดลอกลำคลอง แต่ตนเองก็คัดค้านเพื่อเก็บรักษาพลับพลึงธารไว้ และพยายามปกป้องไม่ให้ชาวบ้านมาขุดไปขาย และได้เก็บเมล็ดไปเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ไปเรื่อยๆ เพื่อเป็นมรดกตกทอดไปถึงรุ่นลูกหลานต่อไป