ประวัติความเป็นมา
ประวัติความเป็นมา
2 พฤศจิกายน 2562

0


ประวัติความเป็นมา
   ตำบลคุระ เป็นหนึ่งใน 4 ตำบลของอำเภอคุระบุรี ประชาชนส่วนใหญ่อพยพมาจากต่างพื้นที่ เช่น จังหวัดนครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี และจังหวัดอื่น ๆ 
นับถือศาสนาพุทธ ประมาณ 65% ศาสนาอิสลาม 35% แบ่งการปกครองออกเป็น 12 หมู่บ้าน ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลบางส่วน 2 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 8
 นอกจากนี้ตั้งอยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล 

ตำนานเมืองนางย่อน
  เป็นตำนานเรื่องเล่าที่สืบเนื่องมาแต่อดีต โดยในเรื่องราวที่เล่าต่อกันมาได้ปรากฏชื่อของหมู่บ้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกอยู่ในปัจจุบัน
 เรื่องที่เล่าสืบต่อกันมานั้น จะเป็นจริงหรือไม่ไม่มีใครสามารถยืนยันได้แต่ก็นับว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าควรแก่การสืบทอดไปสู่อนุชนรุ่นหลัง

ตอนที่ 1 “ตำนานรักนางดำ”
กาลครั้งหนึ่งมีบุรุษผู้หนึ่งนามว่า “พ่อตารัศมี” มีนิวาสถานสถิตอยู่บนยอดเขาซึ่งอยู่ต่อแดนระหว่าง อ.คุระบุรี กับ จ.สุราษฎร์ธานี “พ่อตารัศมี”
 มีคนรูปงาม ผิวพรรณหน้าตาดี และร่ำรวยจึงทำให้มีสาว ๆ สนใจ และแอบหลงรักเป็นจำนวนมาก ขณะนั้นมีหญิงสาวนางหนึ่งนามว่า “นางดำ” 
อยู่ในละแวกใกล้เคียงกันเป็นคนรูปร่างหน้าตาไม่สวย ผิวพรรณดำคล้ำได้เกิดหลงรักพ่อตารัศมี และด้วยวิสัยเจ้าชู้ของฝ่ายชาย ทั้งสองจึงแอบได้เสียกัน 
แต่ พ่อตารัศมีก็ยังติดพันหญิงสาวอื่น ๆ อีก ทำให้ “นางดำ” ต้องได้รับความข่มขื่นใจเป็นอย่างยิ่ง

ตอนที่ 2 “นางขาวผู้เลอโฉม”
ขณะนั้นในหมู่บ้านอีกตำบลหนึ่ง มีหญิงงามชื่อว่า “นางขาว”เป็นหญิงรูปงามน่ารัก มีกิริยาอ่อนหวานสุภาพเรียบร้อย เป็นที่กล่าวขานไปทั่วสารทิศ
 ทำให้เป็นที่หมายปองของชายทั่วไป จึงมีชายหนุ่มไปสู่ขอกันเป็นจำนวนมาก แต่ “นางขาว” ก็ไม่ยอมรับรักชายใด

ตอนที่ 3 “ไฟรักในอากาศ”
กิตติศัพท์ความงามของ”นางขาว”ได้ยินไปถึงหูของ “พ่อตารัศมี” ทำให้เกิดหลงรักนางทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเห็นหน้า จึงประสงค์จะแต่งงานกับนาง
 และได้อ้อนวอนพ่อแม่ของตนให้ไปสู่ขอ “นางขาว” ให้กับตน

ตอนที่ 4 “จัดเตรียมขบวนขันหมาก”
ฝ่ายพ่อแม่ของ “พ่อตารัศมี” อยากให้ลูกได้เป็นฝั่งเป็นฝา จึงได้จัดขบวนเถ้าแก่และขบวนขันหมาก ประกอบด้วยขบวนช้างหลายเชือก
 เดินทางบุกป่าฝ่าดงไปเพื่อสู่ขอ “นางขาว” และได้แวะหยุดพักเพื่อจัดเตรียมขันหมากที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งต่อมาหมู่บ้านแห่งนั้นได้ชื่อว่า”บ้านเตรียม”
 สืบมาจนถึงปัจจุบันขบวนขันหมากได้เคลื่อนออกจาก “บ้านเตรียม” เดินทางมุ่งหน้าลงทางทิศใต้ และแวะหยุดพักที่ภูเขาลูกหนึ่ง มีการสร้างที่พัก
 และสร้างคอกสำหรับช้าง ซึ่งต่อมาภูเขาลูกนั้นมีชื่อเรียกว่า “เขาคอก”

ตอนที่ 5 “พิธีสู่ขอ”
ในวันต่อมา ขบวนขันหมากเดินทางไปถึงบ้านของ “นางขาว” พิธีสู่ขอเป็นไปด้วยบรรยากาศแห่งมิตรภาพ ฝ่ายหญิงให้การต้อนรับด้วยน้ำใจอันอบอุ่น
 ผลของการเจรจาสู่ขอปรากฏว่า “นางขาว”ปฏิเสธอย่างนิ่มนวล ไม่รับรักของ “พ่อตารัศมี” เพราะได้ทราบมาว่าฝ่ายชายเป็นคนเจ้าชู้ 
เคยมีคนรักมาก่อนเป็นจำนวนมากและยังเคยได้เสียกับหญิงอื่นมาก่อน “นางขาว” จึงปฏิเสธ และตั้งสัตย์ปฏิญาณตนเพื่อจะบำเพ็ญความดี
 ไม่คิดชิงรักหักสวาทกับใคร เพราะกลัวว่าจะต้องทุกข์โศกจากความรักในภายหลังนางจึงปฏิเสธเหมือนเช่นที่เคยปฏิเสธชายหนุ่มจำนวนมากมาก่อน

ตอนที่ 6 “หายไปในความมืด”
แม้จะถูกปฏิเสธไม่รับรัก “พ่อตารัศมี” ก็ยังคงเฝ้าติดตามขอความรักจาก “นางขาว” อยู่ต่อไป ฝ่ายนางขาว เมื่อถูกติดตามหนักเข้า ก็คิดว่า
 หากปล่อยไว้ให้เป็นเช่นนี้คงห้ามใจตนเองไม่ได้เข้าสักวันคำสัตย์ปฏิญาณที่ให้ไว้อาจจะสิ้นสลายจึงคิดจะหนีไปอยู่ที่อื่น ในความมืดของคืนวันหนึ่ง”นางขาว”
จึงแอบหนีไป โดยไม่มีใครรู้ว่าไปอยู่ที่ไหนวันรุ่งขึ้น “พ่อตารัศมี” จึงสั่งให้คนออกตามหา “นางขาว” แต่ไม่มีใครพอหรือได้ข่าวทำให้พ่อตารัศมี 
เกิดความเสียใจเป็นอย่างมาก และเฝ้ารอการกลับมาของ “นางขาว” อยู่เป็นเวลาหลายปี โดยไม่ยอมกลับบ้านเดิม

ตอนที่ 7 “ถือศีลบำเพ็ญพรตชั่วชีวิต”
“ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ คำกล่าวนี้คงเป็นความจริง เมื่อความรักแท้ไม่เป็นผล สร้างความเศร้าโศกให้กับ “พ่อตารัศมี” เป็นอันมาก 
พ่อแม่พยายามอ้อนวอนให้กลับบ้านก็ไม่ยอมกลับ เมื่อ พ่อตารัศมีเห็นว่า นางขาว ไม่กลับมาแน่แล้ว จึงตัดสินใจกลับบ้าน และได้ตั้งสัตย์ปฏิญาณว่า 
ชาตินี้จะไม่รักใครอีก โดยจะขอบวชถือศีลบำเพ็ญพรตชั่วชีวิต เพื่อเป็นการทดแทนล้างบาปในความผิดที่ตนได้ก่อไว้ในอดีตและจะเป็นการสร้างสมความดี
เพื่อจะได้พบกับ “นางขาว” ในภพชาติต่อไป “พ่อตารัศมี” จึงให้บริวารยกขบวนกลับบ้านส่วนตนเองถือศีลบำเพ็ญพรตอยู่บนภูเขาลูกหนึ่ง ภูเขาลูกนั้นได้ชื่อว่า “เขาพระหมี”
 สืบมาจนถึงปัจจุบัน

ตอนที่ 8 “ทุ่งนางดำ”
ฝ่าย นางดำ เมื่อ พ่อตารัศมี สลักรักไปรักนางขาว ก็เกิดความเสียใจ และอับอายผู้คนที่ตนประพฤติผิดประเพณีอันดีงาม นางดำ 
จึงตัดสินใจไปตั้งหลักฐานทำกินอยู่ในที่ห่างไกลจากผู้คน โดยไปอาศัยอยู่ในบริเวณทุ่งแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ติดกับ “บ้านหินลาด” 
จนกระทั่งนางเสียชีวิตลง บริเวณแห่งนั้นจึงมีชื่อเรียกว่า “ทุ่งนางดำ” (หาดทุ่งนางดำ ในปัจจุบัน)

ตอนที่ 9 “นางย้อน”
ฝ่าย นางขาว ได้ติดตามข่าวคราวตลอดมา จนได้ทราบว่าเรื่องราวต่าง ๆ สงบลง คนที่เคยทำความผิดก็หันมาปฏิบัติความดีทดแทน นางขาว
 จึงย้อนกลับมาที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง คนทั้งหลายได้เห็นรูปโฉมอันงดงามของนางอีกครั้ง ก็เกิดเสียงเล่าลือกล่าวขานทั่วไปเป็นเสียงเดียวกันว่า 
นางย้อนกลับมาแล้ว หมู่บ้านที่ นางขาว ย้อนกลับมาปรากฏกายจึงได้ชื่อว่า “บ้านนางย้อน” ซึ่งต่อมาแผลงเป็น “บ้านนางย่อน” 
อันเป็นชื่อเรียกสามัญของอำเภอคุระบุรี อยู่ในปัจจุบัน

ตอนที่ 10 “เขาแม่นางขาว”
จากนั้น นางขาว ก็เดินทางไปพักอาศัยถือศีลบำเพ็ญพรตอยู่บนภูเขาแห่งหนึ่งจนตลอดชีวิต ภูเขาลูกนั้นจึงได้ชื่อว่า “เขาแม่นางขาว”
 สืบมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นชื่อเรียกของ “ตำบลแม่นางขาว” อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งต่อเขตกับตำบลคุระ
เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมาได้จารึกอยู่ในความทรงจำของคนทั้งหลาย วันเวลาได้ผ่านล่วงเลยมา จนกระทั่ง.....

ตอนที่ 11 “บ้านห้วยทรัพย์”
มีชายคนหนึ่งนามว่า “ตา ยมดึง” มีอาชีพรับซื้อโค (วัว) เพื่อนำไปขายโดยเดินทางรับซื้อเรื่อยมาจากอำเภอกะเปอร์ 
จังหวัดระนอง เพื่อนำไปขายที่ “เมืองตะโกลา” (ปัจจุบันคือ อำเภอตะกั่วป่า) ได้เดินทางผ่านมาถึง “บ้านห้วยทรัพย์” 
ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือสุดของอำเภอคุระบุรี และของจังหวัดพังงา ต่อเขตกับกิ่งอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง บริเวณนั้นมี “ห้วยน้ำซับ”
 ซึ่งเกิดจาก “น้ำตกโตนจิก” จึงได้ชื่อว่า “ห้วยซับ”และแผลงมาเป็น “ห้วยทรัพย์” ซึ่งเป็นชื่อของหมู่บ้านดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

ตอนที่ 12 “บ้านหินลาด”
“ตา ยมดึง” ต้อนฝูงโคผ่าน บ้านห้วยทรัพย์ เข้าสู่เขต บ้านเตรียม (บ้านที่ตั้งขันหมากของ พ่อตารัศมี) ผ่านเข้าสู่เขตหมู่บ้านแห่งหนึ่ง
 ซึ่งระหว่างทางจะมีภูเขากั้นกลาง การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องปีนป่ายผ่านแนวหินที่ทอดลาดเป็นทางยาว 
หมู่บ้านนั้นจึงได้ชื่อว่า “บ้านหินลาด” สืบมาจนถึงปัจจุบัน จากนั้นจึงเดินทางมุ่งเข้าสู่เขต “บ้านนางย่อน”

ตอนที่ 13 “โคเริ่มป่วย”
ก่อนเข้าสู่ “บ้านนางย่อน” มีลำคลองลึกกั้นขวางอยู่ ซึ่งเคยใช้เป็นเส้นทางผ่านเข้า – ออก ของเรือใหญ่ในอดีต น้ำในลำคลองนั้นใส
 และเย็นจัด “ตา ยมดึง” ต้องใช้ความพยายามไล่ต้อนฝูงโคให้ว่ายน้ำผ่านลำคลองด้วยความลำบาก แต่เนื่องจากฝูงโคเดินทางมาไกล 
จึงเหนื่อย ประกอบกับอากาศที่ร้อนจัดเมื่อลงน้ำที่เย็นจัดในทันที โคจึงไม่สามารถปรับตัวได้ทัน โคจำนวนมากจึงล้มป่วยลง “ตา ยมดึง”
 พยายามต้อนฝูงโคเดินทางต่อไปและได้แวะพักที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง เช้าวันรุ่งขึ้นโคมีอาการป่วย น้ำมูกไหล ขี้ตาเกรอะกรัง
 และมีอาการ “อาเจียน” สร้างความตกใจให้ “ตา ยมดึง” เป็นอย่างมาก หมู่บ้านแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า “บ้านคุระ” ซึ่งแผลงมาจาก “โคราก” 
ตามอาการที่โคป่วย เป็นชื่อของหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ข้อสันนิษฐานอีกอย่างหนึ่ง คือ คำว่า “คุระ” เป็นคำภาษามลายู แปลว่า ต้นสมอทะเล
 เพราะพื้นที่บริเวณนั้นมีต้นสมอเกิดขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากทั้งที่บริเวณ “บ้านคุระ” และ “คลองนางย่อน”
 (ที่มาจากวารสารที่ระลึกเนื่องในงานเปิดที่ว่าการอำเภอคุระบุรี โดย พระปลัดพงษ์สวัสดิ์ กิติญาโน)